รถยนต์ประกันออนไลน์ บริการ 24 ชม. ปริ้น พรบ.ได้เอง

ดาวโหลดใบสมัครสมาชิกศรีกรุงโบรคเกอร์ จำกัด

วันอาทิตย์ที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2560

>ล้นถนน 10 ล้านคัน วิกฤตจราจรผลาญหมื่นล้าน

ติดหนัก 3 ปี 
ล้นถนน 10 ล้านคัน 
วิกฤตจราจรผลาญหมื่นล้าน



ปี”61 วิกฤตจราจรเมืองกรุงลามชานเมือง รฟม.ปิดถนนสายหลัก โหมตอกเข็มรถไฟฟ้า 6 สายสี “แดง-น้ำเงิน-เขียว-ส้ม-ชมพู-เหลือง” กทม.ลุยขุด 8 อุโมงค์ ตำรวจจราจรเผยรถล้นถนน จดทะเบียนพุ่ง 10 ล้านคัน ติดหนึบถึงปี”63 “รามคำแหง-ลาดพร้าว” อัมพาตบั่นทอนเศรษฐกิจหมื่นล้าน/ปี

พล.ต.ต.จิรพัฒน์ ภูมิจิตร รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาลด้านจราจร เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กรุงเทพฯจะเผชิญปัญหารถติดถึงปี 2563 เนื่องจากมีการก่อสร้างรถไฟฟ้า 6 สายและจะปิดถนนตั้งแต่ปีหน้าเป็นต้นไป


ตะวันออกน่าห่วง-ติดหนึบ 3 ปี

“ปีหน้าพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑลจะวิกฤตแบบนี้ไป 2-3 ปี จนกว่ารถไฟฟ้าจะสร้างเสร็จ ค่อนข้างหนักคือโซนตะวันออกของกรุงเทพฯ”ส่วนโซนตะวันตกสายสีน้ำเงิน บางซื่อ-ท่าพระ และหัวลำโพง-บางแค สร้างใกล้เสร็จและคืนผิวจราจรเกือบหมดแล้ว ทั้งถนนจรัญสนิทวงศ์ และเพชรเกษม จะช่วยบรรเทาโซนนี้ได้ ส่วนถนนวิภาวดีรังสิตปีหน้าจะเริ่มดีขึ้น เพราะสายสีแดงช่วงบางซื่อ-รังสิตจะทยอยเสร็จ เช่นเดียวกับถนนพหลโยธินแม้ว่าสายสีเขียวหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ยังไม่เสร็จ อย่างไรก็ดี การจราจรจะหนักช่วง 2 ปีแรก 2561-2562 เพราะต้องสำรวจรื้อย้ายสาธารณูปโภค วางฐานราก ขึ้นตอม่อ วางคานบน จากนั้นจะเริ่มคลี่คลาย



ปีหน้ารัวตอกเข็ม 3 สาย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตามแผนของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) หลังได้รับมอบพื้นที่จาก กทม.และกรมทางหลวง (ทล.) ของรถไฟฟ้า 3 สายใหม่ จะเริ่มงานก่อสร้างเต็มรูปแบบตั้งแต่ปี 2561 ได้แก่ สายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี ระยะทาง 23 กม. วงเงิน 79,221 ล้านบาท เริ่มเบี่ยงจราจรสำรวจรื้อระบบสาธารณูปโภคแล้ว รูปแบบก่อสร้างมีทั้งอุโมงค์ใต้ดินและโครงสร้างทางยกระดับ จะใช้เวลาสร้าง 5 ปี


“สายสีส้มการก่อสร้างอยู่บนถนนสายหลัก คือ ถนนรัชดาภิเษก พระราม 9 และรามคำแหง น่าห่วงคือรามคำแหง เพราะปัจจุบันมีปริมาณจราจรหนาแน่นอยู่แล้ว ยังต้องรื้อสะพานยกระดับอีก และทางเลี่ยงแทบไม่มีเลย ส่วนพระราม 9 จากศูนย์วัฒนธรรมจะเป็นงานใต้ดินและเป็นพื้นที่ รฟม. มีกระทบบางจุดที่เป็นทางขึ้นลงของสถานี”


แนะจัดชัตเติลบัสรับคน

สำหรับแผนการจัดจราจรบนถนนรามคำแหง เช่น ชั่วโมงเร่งด่วนจะเปิดช่องทางพิเศษบนสะพานยกระดับ มีบางช่วงต้องใช้ถนนด้านล่างช่วย อาจต้องปิดจุดกลับรถ ปาดเกาะ รวมถึงรณรงค์ให้คนในพื้นที่ใช้ระบบขนส่งสาธารณะมากขึ้น ซึ่งได้แนะนำ รฟม.ให้ปรับปรุงเรือโดยสารคลองแสนแสบรองรับคนเดินทางเพื่อเป็นทางเลือกเพิ่ม รวมถึงจัดรถชัตเติลบัสรับส่งคนวิ่งบริการทั้งวัน จากในซอยต่าง ๆ ของถนนรามคำแหงไปยังระบบขนส่งต่าง ๆ ส่วนพื้นที่มีนบุรีไม่ค่อยมีปัญหา เพราะขนาดถนนและไหล่ทางกว้าง ให้จราจรพื้นที่ออกข้อบังคับห้ามจอดตลอดเวลา

สำหรับรถไฟฟ้าจะเริ่มปิดจราจรสำรวจระบบสาธารณูปโภคภายในเดือน ธ.ค.นี้ คือ สีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง ระยะทาง 30.4 กม. วงเงิน 51,931 ล้านบาท จะมีปัญหาจราจรติดหนัก เพราะโครงสร้างรถไฟฟ้าจะสร้างบนถนนลาดพร้าวตลอดแนว มีจุดเริ่มต้นช่วงลาดพร้าว-รัชดาภิเษกจุดเชื่อมต่อรถไฟฟ้าใต้ดิน ก่อนมุ่งหน้าไปลำสาลีเข้าถนนศรีนครินทร์


ลาดพร้าวเจอตอท่อประปา

“ลาดพร้าวรถจะติดหนักไม่แพ้รามคำแหง เพราะแนวก่อสร้างอยู่ตรงกลางถนนที่มีท่อประปาใหญ่ขนาด 1.50 เมตร อยู่ตรงกลาง การรื้อย้ายต้องยกท่อประปาออกมาไว้ตรงขาเข้า 1 เลน จากนั้นถึงจะลงเสาเข็มตรงกลาง ใช้เวลารื้อย้ายนานกว่าปกติ ส่วนการจัดจราจรจะคล้ายกับรามคำแหง เพราะลาดพร้าวไม่มีทางเลี่ยง แนะนำ รฟม.จัดรถชัตเติลบัสวิ่งรับส่งที่รถไฟฟ้า

ขณะที่สายสีชมพู แคราย-มีนบุรี ระยะทาง 34.5 กม. วงเงิน 53,519 ล้านบาท รฟม.เริ่มปิดถนนเบี่ยงจราจรบางช่วงถนนติวานนท์ แจ้งวัฒนะ และรามอินทรา ทดสอบเสาเข็มก่อสร้างและรื้อย้ายระบบสาธารณูปโภคใต้ดิน ตั้งแต่วันที่ 20 พ.ย.จนถึง 15 มี.ค. 2561 ส่วนงานรื้อย้ายจะใช้เวลา 10 เดือนถึงเดือน ธ.ค. 2561


แนะใช้ทางเลี่ยงแทน

“ถนนติวานนท์ไม่กระทบมากนัก เพราะบริเวณที่ปิดเบี่ยงรถไม่มาก ยกเว้นเช้าและเย็น ให้เลี่ยงใช้ถนนสามัคคีออกประชาชื่นหรือเลี่ยงเมืองปากเกร็ด แต่รามอินทรารถติดสะสม ให้เลี่ยงเส้นทางใช้ถนนปัญญาอินทรา เสรีไทย หรือขึ้นทางด่วนอาจณรงค์-รามอินทรา”

ส่วนถนนแจ้งวัฒนะให้เลี่ยงเข้าซอยแจ้งวัฒนะ 14 ออกถนนกำแพงเพชร 6 ด้านถนนพหลโยธินสามารถเลี่ยงเข้าซอยพหลโยธิน 48 ออกถนนรามอินทรา และจากรามอินทราให้เลี้ยวเข้าซอยมัยลาภ เพื่อออกถนนเกษตร-นวมินทร์ หรือเข้าซอยรามอินทรา 39 ไปออกถนนวัชรพลและถนนสุขาภิบาล 5 และยังสามารถเลี้ยวเข้าถนนปัญญาอินทรา ถนนพระยาสุเรนทร์ เพื่อมุ่งหน้าสู่หทัยราษฎร์

“เมื่อก่อนคนกลัวรถติดแยกรัชโยธินตอนจะทุบสะพาน แต่ก็ผ่อนคลายไปได้ หลังวางแผนจัดจราจร ใช้เทคโนโลยีใช้กล้องวงจรปิด และการร่วมมือของตำรวจ ผู้รับเหมาและ รฟม.ทำให้การจราจรดีขึ้น ตอนนี้คนห่วงห้าแยกลาดพร้าวเพราะต้องยกตอม่อสูงผ่ากลางแยก แต่ตอนนี้เริ่มคลี่คลาย”


รถจดทะเบียนทะลุ 10 ล้านคัน

พล.ต.ต.จิรพัฒน์กล่าวว่า ปัจจุบันกรุงเทพฯมีปัญหารถติดทุกพื้นที่ ทางตำรวจจราจรพยายามทำให้แต่ละพื้นที่เคลื่อนตัวได้ สามารถบรรเทาได้ระดับหนึ่ง ถ้าไม่มีปัจจัยอื่นมาแทรกซ้อน เช่น ฝนตก น้ำท่วม

“ปัญหารถติดในกรุงเทพฯเกิดจากจำนวนรถเกินจากถนน จากการประเมินของกรมการขนส่งทางบกถึงสิ้นปีนี้ คาดว่ามีรถจดทะเบียนประมาน 10 ล้านคัน ขณะที่ถนนยาวแค่ 5,500 กม. ถ้าจับเอารถมาเรียงต่อกันยังรับได้แค่ 1.7 ล้านคัน อีกทั้งมีการก่อสร้างเพิ่มขึ้น ทั้งอุโมงค์รถไฟฟ้า ทำให้ผิวจราจรหายไป เกิดคอขวด ประกอบกับคนไม่ค่อยมีวินัยจราจร”

นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ช่วยผู้ว่าการ รฟม. กล่าวว่า สายสีชมพูกับสีเหลืองจะเริ่มรื้อย้ายระบบสาธารณูปโภค แต่เนื่องจาก กทม.และ ทล.ยังไม่อนุมัติแบบก่อสร้าง อีกทั้งยังติดปัญหาเวนคืนที่ดินล่าช้า คาดว่าจะเริ่มงานเต็มรูปแบบภายในไตรมาสแรกของปี 2561 ใช้เวลาสร้าง 3 ปี เสร็จปี 2564


กทม.ขุด 8 อุโมงค์

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ปัจจุบัน กทม.กำลังสร้างทางลอด 4 แห่ง ได้แก่ 1.แยกไฟฉายแนวถนนจรัญสนิทวงศ์-พรานนก 2.ทางลอดถนนพัฒนาการ-รามคำแหงถาวรธวัช 3.ทางลอดถนนศรีนครินทร์-ร่มเกล้า จะเปิดใช้ปลายปี 2561 และ 4.ทางลอดรัชโยธินแนวถนนรัชดาภิเษก อีกทั้งเตรียมจะสร้างอุโมงค์ทางลอดเพิ่มอีก 4 แห่ง ได้แก่ 1.แยกรัชดาภิเษก-ราชพฤกษ์ 2.ทางลอดแยกถนนศรีอยุธยา-พระราม 6 3.ทางลอดถนนกาญจนาภิเษก-รามคำแหง และ 4.ทางลอดศรีนครินทร์-พัฒนาการ แนวถนนรถไฟตะวันออกและยังมีโครงการแก้จราจรแนวถนนรามคำแหง จะสร้างทางยกระดับและอุโมงค์ทางลอด จากแยกลำสาลี-คลองบ้านม้า เป็นทางยกระดับ 4 ช่องจราจร ใช้เวลาสร้าง 3 ปี สร้างอุโมงค์ทางลอดใต้ถนนกาญจนาภิเษกจากคลองบ้านม้า-ถนนราษฎร์พัฒนา ใช้เวลาสร้าง 4 ปี ขยายผิวถนนช่วงถนนราษฎร์พัฒนาเชื่อมกับคลองบางชันเป็น 8 ช่องจราจร จะใช้เวลา 2 ปี ขณะนี้กำลังหารือแบบก่อสร้างร่วมกับ รฟม.


ชี้วิกฤตจราจรบั่นทอนเศรษฐกิจ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากปัญหารถติดกรุงเทพฯ ที่ผ่านมีหลายฝ่ายประเมินความสูญเสียเมื่อปี 2559 โดยสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) เคยประเมินเกิดการเผาผลาญน้ำมันวันละ 97 ล้านบาท หรือปีละกว่า 3.5 หมื่นล้านบาท ส่วนศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินค่าเสียโอกาสอยู่ที่ 11,000 ล้านบาท/ปี หรือเฉลี่ยวันละ 60 ล้านบาท ขณะที่ต้นทุนพลังงานเพิ่มปีละ 6,000 ล้านบาท

ล่าสุดอูเบอร์ผู้ให้บริการร่วมเดินทางจากสหรัฐอเมริกาเผยผลสำรวจคนไทยเสียเวลากับปัญหารถติดเฉลี่ย 72 นาทีต่อวัน ใน 1 ปี คนกรุงเทพฯจะเสียเวลาเฉลี่ย 24 วันกับปัญหารถติดและหาที่จอดรถ คิดเป็นมูลค่าความเสียหาย 2-5% ของจีดีพีทั้งประเทศ

ที่มา : https://www.prachachat.net/property/news-81634

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม